27/1/54





ระบบภูมิต้านทานของร่างกาย(Immune System)





     เมื่อมนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อม มนุษย์ก็จะต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากมาย ทั้งสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและที่ไม่เหมาะสม และสิ่งแวดล้อมบางอย่างก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ได้ เช่น จุลินทรีย์ สารเคมี ไวร้ส สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กและฝุ่นละอองต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้นร่างกายมนุย์จึงจำเป็นต้องมีระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อช่วยต่อต้านและกำจัดสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้อย่างปกติสุข และมีสุขภาพกายที่สมบูรณ์แข็งแรง
     เราเรียกสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ว่า แอนติเจน (antigen) ซึ่งเป็นสารหรือสิ่งมีชีวิตที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะส่งผลทำให้เกิดการตอบสนองของร่างกายหรือก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้ ดังนั้นร่างกายมนุษย์จึงจำเป็นต้องมีกลไกตอบสนองในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ เพื่อให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายสามารถดำเนินไปได้อย่างปกติ โดยเราเรียกระบบภายในร่างกายที่มีหน้าที่ต่อต้านสิ่งแปลกปลอมและความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายว่า ระบบภูมิคุ้มกัน (immune system)
 
    
    ลักษณะการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
          ในร่างกายของมนุษย์ประกอบด้วยระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ มากมายหลายระบบ ซึ่งแต่ละระบบจะมีกลไกการทำงานที่แตกต่างกัน โดยสามารถจำแนกลักษณะการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ตามความจำเพาะเจาะจงในการป้องกันสิ่งแปลกปลอมได้เป็น 2 ลักษณะ คือ ระบบภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะเจาะจง และระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะเจาะจง ซึ่งมีความแตกต่างกันดังนี้
1.ระบบภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะเจาะจง (nondpecific defense mechanism)                      ระบบภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะเจาะจง เป็นกลไกการกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายแบบไม่จำเพาะเจาะจง มีความสามารถในการป้องกันหรือทำลายเชื้อจุลินทรีย์หรือสิ่งแปลกปลอมไม่สูงนัก อาจกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ระบบภูมิคุ้มกันนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ พันธุกรรม ฮอร์โมน และภาวะโภชนาการของแต่ละบุคคล ซึ่งสามารถแบ่งลักษณะของกลไกการทำงานได้เป็น 3 แบบ คือ การป้องกันทางกายวิภาค การป้องกันโดยสารเคมีในร่างกายและการป้องกันโดยการสะกดกลืนกิน ดังนี้
                    1)  การป้องกันทางกายวิภาค (anatamical barrier) คือ กลไกการป้องกันสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเกิดจากการกีดขวางตามธรรมชาติ ได้แก่ ผิวหนัง (skin) เยื่อเมือก (mucous) ที่บุตามผิวของอวัยวะต่าง ๆ และขนอ่อน (cilia) ตามอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงกลไกการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
                        1.  ผิวหนัง เป็นด่านป้องกันที่อยู่ด้านนอกของร่างกาย มีบทบาทในการป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ ฝุ่นละอองรวมทั้งสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย โดยที่ผิวหนังจะมีความชุ่มชื้นต่ำ ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ ที่มาเกาะตามผิวหนังขาดความชุ่มชื้นและตายได้ในที่สุด นอกจากนี้ที่ผิวหนังยังมีสารกลุ่มเคอราติน (keratin) ซึ่งช่วยป้องกันการติดเชื้อ และผิวหนังยังสามารถขจัดเชื้อจุลินทรีย์ออกไปได้ ด้วยการหลุดลอกของผิวหนังชั้นนอก
                         2.  เยื่อบุผิว เป็นส่วนที่มีเยื่อเมือกช่วยดักจับเชื้อจุลินทรีย์ด้วยการหุ้มเคลือบ โดยประกอบกับการทำงานของขนที่มีขนาดเล็ก (cilia) ซึ่งสามารถพบได้ตามระบบทางเดินหายใจ เช่น โพรงจมูก ช่วยกวาดสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อจุลินทรีย์ให้เคลื่อนที่ไปทางหลอดลมหรือโพรงจมูก และขับออกจากร่างกายโดยการไอ จาม หรือขับออกในรูปเสมหะ ที่อาจคายออกหรือกลืนลงสู่กระเพาะอาหารแล้วถูกขับออกทางอุจจาระได้ นอกจากโพรงจมูกแล้ว กลไกการป้องกันสิ่งแปลกปลอมเช่นนี้ อาจพบได้ตามช่องเปิดของร่างกายส่วนต่าง ๆ อีกด้วย
                         3.  การปัสสาวะ ในท่อปัสสาวะจะมีสภาพที่เป็นกรดอ่อน ๆ ซึ่งสามารถป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ที่บุกรุกเข้าสู่ร่างกายบางชนิดได้ โดยเมื่อมีการปนเปื้อนของเชื้อในระบบ เชื้อจุลินทรีย์หรือสิ่งแปลกปลอมจะถูกกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวและผลักดันออกจากร่างกายด้วยแรงดันของการปัสสาวะ การอั้นปัสสาวะเป็นประจำจะก่อให้เกิดการสะสมและการอักเสบเนื่อกจากเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในกระเพาะปัสสาวะได้
                    2)  การป้องกันโดยสารเคมีในร่างกาย (chemical factor) คือ กลไกการป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายที่เกิดขึ้นจากสารเคมีต่าง ๆ ที่ร่างกายหลั่งออกมา ทำให้เกิดสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ เช่น เอนไซม์บางชนิดที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ สารคัดหลั่งบางชนิดที่ทำให้ร่างกายมีสภาพความเป็นกรด-เบสสูงจนไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ เป็นต้น การป้องกันโดยสารเคมีในร่างกาย ได้แก่อวัยวะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
                         1.  ต่อมเหงื่อ เป็นต่อมที่สามารถขับน้ำเหงื่อ ซึ่งเป็นสารคัดหลั่งที่มี pH ระหว่าง 3-5 ประกอบด้วยกรดต่าง ๆ เช่น กรดไขมัน (fatty acid) กรดแลคติก (lactic acid) กรดคาร์โปอิก (carproic acid) และกรดคาร์ไพลิก (caprylic acid) เป็นต้น เหงื่อจึงเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราบางชนิดถูกทำลายและขับออกจากรูขุมขนได้
                          2.  ต่อมน้ำตา สามารถหลั่งน้ำตา ซึ่งประกอบด้วยเอนไซม์ไลโซไซม์ (lysozyme) ที่สามารถทำลายผนังเซลล์ของแบคทีเรียได้ น้ำตาจึงเป็นสารละลายที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อจุลินทรีย์ในดวงตา นอกจากนี้หากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตา ต่อมน้ำตาจะมีการหลั่งน้ำตาออกมามาก เพื่อช่วยชะล้างสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ออกไปจากดวงตาได้
                          3.  ช่องปาก ในช่องปากประกอบด้วยต่อมน้ำลาย ซึ่งสามารถหลั่งน้ำลายที่มีความเป็นด่าง จึงช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดได้ นอกจากนี้ในน้ำลายยังประกอบด้วยเอนไซม์ไลโซไซม์ ซึ่งช่วยทำลายเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดได้ด้วย
                          4.  อวัยวะเพศ ภายในช่องคลอดของเพศหญิงจะมีสภาพเป็นกรด ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อโรคหลายชนิด ส่วนในอวัยวะเพศชายจะมีสารประกอบโพลีเอมีน (polyamine) อยู่ในน้ำอสุจิ เรียกว่า สเปอร์ไมน์ (spermine) สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบคทีเรียแกรมบวกจึงช่วยลดการติดเชื้อในอวัยวะเพศชายได้
                          5.  ระบบย่อยอาหาร ในระบบย่อยอาหารจะมีกรดเกลือ (hydrochloric acid; HCI) ซึ่งเป็นน้ำย่อยที่หลั่งออกมาจากกระเพาะอาหาร มีสมบัติความเป็นกรดสูง สามารถทำลายแบคทีเรียต่าง ๆ ได้หลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วง และไวรัสที่ไม่มีผนังหุ้มต่าง ๆ และยังสามารถย่อยสลายสารกลุ่มไลโพโปรตีน (lipoprotein) ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเชื้อจุลินทรีย์ได้
                           นอกจากการป้องกันโดยสารต่าง ๆ ที่ร่างกายผลิตออกมาแล้ว ตามอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย จะมีเชื้อจุลินทรีย์อาศัยอยู่ โดยเชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้จะอาศัยอยู่ในร่างกายตามปกติและไม่ก่อโรค เรียกว่า จุลินทรีย์ประจำถิ่น (Normal Flora) ซึ่งเชื้อประจำถิ่นเหล่านี้จะเป็นผู้แย่งอาหารและพื้นที่อยู่อาศัยของเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อโรครวมทั้งยังสร้างสารต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่น ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อโรคชนิดต่าง ๆ ไม่ให้มีปริมาณมากจนเกินไป แต่หากร่างกายได้รับยาฆ่าเชื้อเป็นประจำ จะทำให้เกิดการรบกวนระบบปกป้องโดยธรรมชาติของเชื้อจุลินทรีย์ประจำถิ่นเหล่านี้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเสียสมดุลของเนื้อเยื่อที่ตำแหน่งดังกล่าวได้
                    3)  การสะกดกลืนกิน (phagocytosis) เป็นกลไกการป้องกันสิ่งแปลกปลอมในร่างกายที่มีความสำคัญมากเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานของเม็ดเลือดขาวต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเมื่อเชื้อจุลินทรีย์หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นเกิดการอักเสบขึ้น (inflammatory) จากนั้นเซลล์เม็ดเลือดขาวต่าง ๆ จะเข้าจับกินเชื้อจุลินทรีย์และทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่เซลล์ แล้วจึงเกิดการย่อยสลายตัวเองพร้อมกับเชื้อจุลินทรีย์ให้ตายพร้อมกันกลายเป็นหนอง โดยขั้นตอนในการทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมของเม็ดเลือดขาว จะประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
                          1.  การเคลื่อนตัวเพื่อเข้าไปหาสิ่งแปลกปลอมนั้น (chemotaxis) 
                          2.  กระบวนการเปลี่ยนแปลงสมบัติของจุลินทรีย์หรือสิ่งแปลกปลอม (opsonization)
                          3.  การกลืนหรือล้อมเข้าเซลล์ (ingestion)
                          4.  กระบวนการย่อยทำลายในเซลล์ (intracellular digestion) หรือการฆ่าทำลายจุลินทรีย์ (killing)
                          5.  การปล่อยสิ่งแปลกปลอมที่ถูกทำลายออกสู่ภายนอกเซลล์ (elimination)
                    4)  อินเตอร์เฟอรอน (interferon; IFN) เป็นกลุ่มของโปรตีนที่มีความสำคัญในการขัดขวางการแบ่งตัวของไวร้ส จึงช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้ อินเตอร์เฟอรอนจะถูกกระตุ้นให้สร้าขึ้นในร่างกายจากการรับเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด ในปัจจุบันอินเตอร์เฟอรอนจัดเป็นสารที่มีศักยภาพสูง ดังนั้นมีการศึกษาเพื่อพัฒนาให้สามารถใช้งานทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ และโรคมะเร็ง ที่ยังเป็นปัญหาในการรักษาโรคในปัจจุบัน
                    5)  เซลล์เอ็นเค (natual killer cell; NK cell) เป็นเซลล์กลุ่มลิมโฟไซต์ สร้างขึ้นจากเซลล์ต้นกำเนิดซึ่งอยู่ในไขกระดูก โดยเซลล์นี้เจริญเต็มที่ได้ในกระแสเลือดไขกระดูก และม้าม เซลล์ชนิดนี้จะมีหน้าที่ทำลายเซลล์เนื้องอก (tumor cell) และเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส
                    6)  ระบบคอมพลีเมนต์ (complement system) เป็นระบบที่ประกอบด้วยกลุ่มของโปรตีนมากกว่า 20 ชนิดในซีรัมหรือน้ำเลือด ซึ่งโปรตีนเหล่านี้จะถูกกระตุ้นจากการรวมตัวของแอนติเจนและแอนติบดี (antigen antibody complex) เกิดปฏิกิริยาเชื่อมโยงอย่างต่อเนื่องและมีกระบวนการที่ซับซ้อน ได้ผลผลิตจากปฏิกิริยาที่สามารถเข้าจับตัวกับผิวของเชื้อโรคหรือแอนติเจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหน้าที่และรูปร่าง จนทำให้เซลล์เสียสภาพและตายในที่สุด การเกิดระบบคอมพลีเมนต์นี้ ได้แก่ การอักเสบ (inflammation) และสภาวะช็อก (anaphylaxis) เป็นต้น           
          2.  ระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะเจาะจง (specific defense mechanism)                ระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะเจาะจง หรือการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน (immune response) เป็นกลไกการกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือแอนติเจนต่าง ๆ ในร่างกาย ที่มีความจำเพาะต่อแอนติเจนแต่ละชนิด ซึ่งได้แก่ จุลินทรีย์ สารพิษ และโมเลกุลของสารต่าง ๆ ภายนอกร่างกาย รวมถึงเซลล์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติในร่างกาย
               การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทั้งแบบไม่จำเพาะเจาะจงและแบบจำเพาะเจาะจง ล้วนจำเป็นต้องมีเซลล์     ลิมโฟไซต์เพื่ดให้เกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะเจาะจง จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระบบ ดังนี้
                    1)  ระบบภูมิคุ้มกันจากกระแสเลือดและสารคัดหลั่ง (Kumoral Immune Response; HIR) คือ ระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดจากเซลล์ลิมโฟไซต์ชนิดบีตอบสนองต่อแอนติเจนแต่ละชนิดอย่างจำเพาะเจาะจง ทำให้มีการสร้างแอนติบอดีขึ้น เพื่อกำจัดแอนติเจนต่าง ๆ ที่เข้ามาในร่างกาย เรียกว่าแอนติบอดีที่สร้างขึ้นอย่างจำเพาะนี้ว่า อิมมิวโนโกลบูลิน (immunoglobulin)
                   
เมื่อร่างกายเราได้รับแอนติเจน ร่างกายของเราจะสามารถสร้างแอนติบอดีได้ภายใน 14 วัน ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของแอนติเจน ปริมาณของแอนติเจนที่ได้รับ และวิธีการเข้าสู่ร่างกาย โดยระบบภูมิคุ้มกันจากกระแสเลือดและสารคัดหลั่ง เป็นระบบที่สามารถถ่ายทอดจากผู้ที่มีภูมิคุ้มกัน (immunized donor) ไปยังผู้ที่ยังไม่มีภุมิคุ้มกัน (native host) ได้ ด้วยการส่งผ่านทางกระแสเลือด
                     2)  ระบบภูมิคุ้มกันจากเซลล์ (cell-mediated immune response; CMIR หรือ cell-mediated immunity; CMI) คือ ระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการตอบสนองทางภูมคุ้มกันของเซลล์ ซึ่งเซลล์ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบ คือ เซลล์ลิมโฟไซต์ที่มีการตอบสนองต่อสารจำเพาะ (specificcally sensitized lymphocyte; SSL) หรือ ลิมโฟไซต์ชนิดที่ (T lymphocyte) ซึ่งมีการพัฒนาผ่านทางต่อมไทมัส จนได้เป็นเซลล์ที่สมบูรณ์ 3 ชนิด คือ เซลล์ที่ทำลายสิ่งแปลกปลอม เซลล์ทีผู้ช่วย และเซลล์ทีกดระงับ ซึ่งเซลล์ทีต่าง ๆ เหล่านี้จะไปสะสมอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ ต่อมน้ำเหลือง ต่อมทอนซิลและม้าม รวมถึงกระแสเลือดทั่วร่างกาย
                         1.  เซลล์ทีทำลายสิ่งแปลกปลอม หรือเซลล์ทีไซโททอกซิก (cytotoxic T cell; Tc) ทำหน้าที่ทำลายแอนติเจนที่เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งได้แก่ เซลล์จุลินทรีย์ เซลล์ร่างกายที่ติดเชื้อ หรือเซลล์มะเร็ง ด้วยการหลั่งโปรตีนออกมาทำลายเซลล์ติดเชื้อให้แตกสลายและตายในที่สุด
                         2.  เซลล์ทีผู้ช่วย หรือเซลล์ทีเฮลเปอร์ (helper T cell; TH) ทำหน้าที่กระตุ้นลิมโฟไซต์ชนิดบี ให้สร้างแอนติบอดีที่จำเพาะต่อชนิดแอนติเจน ทั้งยังทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานของเซลล์ทีชนิดอื่น ๆ ด้วย
                         3.  เซลล์ทีกดระงับ หรือเซลล์ทีซัพเพรสเซอร์ (supressor T cell; Ts) ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของลิม โฟไซต์ชนิดบีและชนิดทีที่เป็นเซลล์ทีผู้ช่วย หรือเซลล์ทีทำลายสิ่งแปลกปลอมให้อยู่ในสภาวะสมดุล

การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี
  ถึงแม้แต่ละคนจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่ได้รับถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์มาต่างกัน แต่ก็สามารถ มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีได้เหมือนกัน โดยหลักการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันง่ายๆ มีดังนี้คือ
     1. อาหาร  กินอาหารให้ครบทุกหมู่และเพียงพอ และอาหารที่กินควรมีคุณภาพดี เช่น สด สะอาด ปนเปื้อนน้อยที่สุด ไม่กินอาหารหมักดอง อาหารที่ทอดหรือย่างจนไหม้เกรียม
    2. ออกกำลังกาย  การออกกำลังกายจะทำให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น มีการแตกแขนงของหลอดเลือดในเนื้อเยื่อต่างๆ มากขึ้น ทำให้เม็ดโลหิตขาวหรือภูมิคุ้มกัน เข้าสู่ในเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ง่าย เมื่อมีเชื้อโรคเข้ามาก็เข้าไปจัดการได้เร็ว
    3. ทำจิตใจให้เบิกบาน จิตใจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน หรือสารสุขในร่างกาย สารนี้พอหลั่งออกมาทำให้ระบบการทำงานของเซลล์ดีขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากจิตใจห่อเหี่ยวเศร้า เป็นทุกข์ ร่างกายจะหลั่งสารทุกข์ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่ดี ร่างกายอาจเจ็บป่วยได้ สารเอ็นดอร์ฟินจะหลั่งเมื่อจิตใจมีความสุข สงบ เบิกบาน ฉะนั้นการคิดแต่สิ่งดีๆ คิดช่วยเหลือผู้อื่น คิดในแง่บวก ก็เป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเช่นกัน